เบญจขันธ์เป็นของหนัก

พระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปํญโญ)
วัดธาตุมหาชัย ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม

บทแสดงพระธรรมเทสนา
๘ มกราคม ๒๕๓๙
งานปฏิบัติธรรม วัดป่ามหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม

ถ้าบันไดขั้นต้นบริบูรณ์ สมบูรณ์แล้ว บันไดขั้นที่๒ เกิดง่าย อย่างง่ายๆ ถึงมันจะมีอุปสรรคมากมายก็ตาม
แต่ว่ามันสามารถที่จะผ่าฟันไปได้ ด้วยอำนาจความบริสุทธิ์ของศีลเมื่อขั้นที่๒ผ่านไปแล้ว ขั้นที่๓ คือ
ตัวปัญญาเกิดขึ้นในลำดับ ตั้งแต่ชั้นต้นในการ สำรวมระหว่างเกิดขึ้นในลำดับที่๒คือตัวสมาธิ
ขั้นที่๓คือปัญญาตัวเดียวที่อาศัยปัจจัย มาจากบันไดขั้นที่๒ทำให้ไปได้สะดวก
อันนี้ท่านสอนเมื่อตะกี้นี้ขอให้นักปฏิบัติทั้งหลายเข้าใจ และนำไปปฏิบัติตามหลักธรรมะที่ท่านได้แนะชี้ไว้
การสอนกรรมฐานก็มีหลายแบบหลายตอน แต่มันก็ลงในชั้นเดียวกัน คือ ให้เป็นผู้รู้ผู้เห็น เป็นผู้รู้ ผู้ละ ผู้ปล่อย
ผู้วาง ผู้ไม่ยึด ไม่ถือในสิ่งที่ไม่ควรยึดไม่ควรถือ รู้แจ้งเห็นชัด ด้วยปัญญาในกิเลสทั้งหลาย
เราสามารถที่จะละกิเลสหักด้ามของกิเลส ไม่ให้เกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจของปัญญา

ต่อไปนี้หลวงปู่จะเทศน์เพื่อให้คติบางอย่าง แก่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายที่ได้ปฏิบัติมาแล้วตั้งแต่วันที่ ๓๐
ถึงวันที่ ๗ วันนี้ ก็รวมเวลาได้ ๙ วันแล้วกับวันนี้ ก็นับว่านัก ปฏิบัติทั้งหลายฝึกปฏิบัติมา
เคยปฏิบัติมาตั้งแต่ต้นจนถึงวันนี้ อาจารย์ที่มาให้กรรมฐานมาให้แนวความคิดให้ทั้งปัญญาทั้งรักษาโรคทางใน
โรคมันมีหลายโรค โรคในกาย โรคในใจ โรคภายนอกก็ต้องอาศัยโรงพยาบาล โรงพยาบาลที่มีอยู่ประจำจังหวัด หรือ อำเภอ
อาศัยนายแพทย์ เป็นผู้ประกอบเภสัช ประกอบยา เมื่อตรวจเจอ โรคภายในร่างกายของเรา โรคชนิดไหน โรคอะไร
เมื่อพบแล้วนายแพทย์ก็ประกอบเภสัชมาใช้กับโรคนั้น โรคนั้น ก็สามารถหายได้ ถ้าประกอบเภสัชไม่ถูกกับโรค
โรคก็เลยหายไม่ได้ ทำไมจึงหายไม่ได้ เพราะไม่ได้สัมผัสกัน มันไม่ถูกกับโรค โรคก็หายไม่ได้คราวนี้โรคทางใจ
เมื่อคนเกิดโรคทางใจ ใจนี้หมายถึง กิเลสและอุปาทานต่าง ๆ ที่เรายึดติดมาอยู่ตั้งแต่เราไม่รู้เดียงสา จนถึงบัดนี้ก็มีอยู่

๑. ความโลภ ๔. ทิฐิมานะ ๒. ความโกรธ ๕. วิติอุตสา ๓. ความหลง

เป็นโรคทั้งหมด ตลอดถึงอุปาทาน ความโลภทั้งหมด ความยึดมั่นถือมั่นในรูปร่างกาย ในเบญจขันธ์
เราติดแน่นว่าเป็นของเราทุกคนก็ว่าเป็นของเรา เด็กก็ร่างกายของเราผู้ใหญ่ก็ร่างกายของเราอะไรของเราทั้งนั้น
นี้เป็นความเข้าใจของพวกเราทั้งหลาย แต่มันเป็นไปได้โดยสมมุติ ถ้าโดยชอบแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่
นั้นไม่ใช่ของเรามันเป็นของ “อนัตตา” ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา
ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย หมุนไปตามสภาวะของธรรมชาติที่กำกับมัน อนัตตา มีตัวหมุนเวียนอยู่คือ “อนิจจัง”
ความไม่เที่ยงเวียนกันอยู่ทุกเวลา เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ไม่เป็นปกติถ้าเราจะมอง มองดูร่างกายของเรา เราไม่ใช่เป็นอย่างนี้
ไม่ได้เกิดเป็นอย่างนี้ แรกเราเป็นเด็ก ๆ ตั้งอยู่ในเบาะ อาศัยหลับนอนบนตักคอของพ่อแม่ ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองดูแลตัวเองได้

เมื่ออาศัยความอุปถัมภ์ แล้วก็เปลี่ยนมาเรื่อย ๆ เปลี่ยนขึ้นมาเป็นเด็ก เล่นอยู่ตามถนน
หนทางสนุกสนานอาหารการบริโภคต่างๆ ไม่รู้ว่ามาทางไหน อาศัยกินกับพ่อแม่ พ่อแม่มีอะไรไม่ทราบ
พอถึงเวลาเขาเรียกกินก็มากิน ไม่รู้ว่าได้มายากหรือง่าย ยังไงไม่เคยทราบนึกว่า อาหารมันอยู่ในหม้อ ข้าวมันอยู่ในติบ
ในระยะนี้ก็ยังไม่พอแต่เด็กมันสนุกสนานมากเลย การงานไม่ต้องทำ มีแต่เล่นกันไปวันๆ เดี๋ยวก็เปลี่ยนขึ้นมาอีกแล้ว
เป็นหนุ่มเป็นสาว มีคนมาชอบ ชอบกันหลงรักกัน หลงชมในรูปกายของตน ว่ากายนี้ของตน ว่ากำลังหนุ่มแน่นสวยงาม เก่งๆ
สาวๆชอบกันวัยอย่างนี้ ร่างกายอย่างนี้เราต้องการอย่างไรแต่มันไม่อยู่ในอำนาจของเรา หมุนขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่
หรือผู้แก่เป็นผู้แก่ กำลังสร้างกำลังแปลงมีเหย้ามีเรือนมีคู่ครอง กำลังสนุกสนานหลงงมงาย ในสภาวะนั้น
อยู่ในวัยนั้น เดี๋ยวก็เปลี่ยน ไปอีกแล้ว เปลี่ยนเป็นชรา

ความจริงมันชรามาตั้งแต่เกิดแล้ว แต่เรามารู้ตรงนี้เองว่าแก่ แก่มากแล้วเมื่อแก่มากแล้วก็ต้องกันความแก่ไปจนถึงที่สุด
แล้วในที่สุดของชีวิตจนแตกจนดับ มาถึงตรงนี้แล้วกลับแก่แล้วเริ่มกลัวอีกแล้วไปเกิดใหม่อีก ไปเริ่มแก่อีก อันนี้คือ
“อนิจจัง”
ความทุกข์ของมันเกิดขึ้นตามลำดับของความจริง เราอยู่สบาย กินสบาย นอนก็สบาย ร่างกายปราศจากโรค
เราก็มีความสุข เมื่อร่างกายของเราเกิดโรคไม่สบายขึ้น หรือ ความคิดไม่สะดวกอึดอัด ติดขัดใน การทำมาหาเลี้ยงชีพ
เกิดความตึงเครียด เป็นทุกข์นี่ทุกข์ขังได้เกิดขึ้น ในลำดับของความเปลี่ยนซึ่งก็สลับกันไปเรื่อยๆ
อันนี้ทำไมมันถึงเปลี่ยนอย่างนี้ถึงเป็นทุกข์อย่างนี้ ความจริงเราไม่ต้องการทุกข์ แต่มันก็เกิด
ควรคิดว่ามันมาจากที่ไหน ก็มันมาจากตัวเกิด เมื่อมีเกิดที่ไหน ก็มีทุกข์ที่นั้น

เมื่อไม่มีเกิดก็ไม่ทุกข์นี่มันเป็นอย่างนี้แต่บัดนี้เราเกิดขึ้นมาแล้ว เราเอาทุกข์มาด้วยเอาความตายมาด้วย
เอาความเปลี่ยนแปลงมาด้วย เปลี่ยนเวียนอยู่เรื่อยๆ เพราะมันเป็น อนัตตา มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา
มันก็เปลี่ยนไปอย่างนี้ตามธรรมชาติ ความมุ่งหมายของอนัตตานี้ นักปฏิบัติทั้งหลาย พระพุทธเจ้าของเราได้สอนไว้ว่า
ให้เราตรวจดูกายเราเสียก่อน ตรวจดูจิต ของเรา จิตคือความนึกคิดต่างๆมีดีบ้าง คิดถึงอดีต คิดถึงอนาคต คิดถึงปัจจุบัน
คิดไปร้อยแปดพันประการ บางคนคิดอยู่อย่างนี้ เรามาตรวจดูว่าความคิดนี้ มีอะไรซ่อนเร้นอยู่ในจิตนี้
ทำไม่มันถึงคิดอย่างนั้น อันนี้เพราะว่าเป็น

หน้าที่ของจิตในการคิด มันมีหน้าที่คิดอย่างเดียว แต่หารู้ไม่ว่าคิดอะไร
คิดถูกหรือคิดผิดล่ะจิตของเราเองก็ไม่รับรองเพราะมันมีหน้าที่คิดอย่างเดียว แต่ตัวเราเองเป็นผู้ที่จะตัดสิน
เป็นผู้ที่เตือนจิตให้รู้สึกว่ามันผิดนะมันถูกนะ นั่นก็คือตัวปัญญา สติปัญญาทั้งสองอย่างนี้ เป็นอาจารย์ของจิต
เป็นผู้แนะจิต คิดอย่างนี้ถูกคิดอย่างนี้ผิดทำอย่างนี้ถูก ทำอย่างนี้ผิด นี่สติปัญญาเตือน

ถ้าหาสติปัญญาไม่ได้แล้ว จิตก็คิดไปเรื่อยๆ ถ้ามันผิดก็ผิดไปเลย ถ้ามันถูกก็พอประทังตน เพราะไม่มีนักปราชญ์
เตือนจิตคิดเหมือนเด็กเล่นตามบ้านจะพลัดตกหกล้ม ไปถูกของแข็งไปถูกของร้อนไม่รู้ ก็เล่นกันอยู่นั้นแหละ
มันจะถูกของแข็ง ของร้อน ของมีคม จะพลัดตกหกล้ม พ่อแม่ผู้ดูแลจะเตือน เดี๋ยวหกล้มนะ เดี๋ยวตกบ้านนะ เดี๋ยวถูกมีดบาดนะ
เดี๋ยวน้ำร้อนลวกนะ ถ้าพ่อแม่ไม่เตือน เราก็ไม่รู้ จิตของเราก็เช่นเดียวกัน ก็คิดไป
อย่างนั้นเพราะเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงสอนพวกเรา ไว้เป็นหลักๆ ให้สำรวมจิตให้ระวังให้รักษาจิต ถ้าเราสำรวมจิตได้แล้ว
รักษาจิตได้แล้ว จิตก็จะสะอาดบริสุทธิ์ ถ้าสำรวมไม่ได้รักษาไม่ได้ จิตก็จะเศร้าหมอง ถ้ายังไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร
เราต้องรักษา ท่านจึงมีสุภาษิตว่า “จิตตัสสะ สะมะโถ สาธุ” ฝึกฝนจิตเป็นความดี ฝึกฝนก็คืออบรมจิต แก้จิต รักษาจิต
อยู่กับการฝึกจิต อย่างเรามาปฏิบัติธรรมอยู่นี่ละ

เรามารักษาจิต จิตนี้มันเอาอะไรไว้ในจิต ให้รู้ว่าจิตมันคิด มันนึกมันเอาอารมณ์มาฝังไว้ในจิตฝังไว้ตลอดจนลึก
จนเป็นสันดาน ความโกรธ ความหลงเอามากองไว้ ความรักก็เอาไว้ ความเกลียดก็เอาไว้ เอาไว้หมด ความไม่รู้ก็เอาไว้ มันเก็บไปหมด
ไม่เหมือนร่างกาย ร่างกายของเรานี้ ภายในเต็มไปด้วยความโสโครก สกปรก โสมม ปิดเอาไว้ก็ไม่อยู่ เอาผ้ามาปิดอีกก็ยังปิดไม่มิด
ของโสโครกก็ยังออกมาให้เห็น ตาเรามองไม่เห็นภายในแต่ให้เราเห็นภายนอก ออกมาทางกายก็เป็น ขี้มูก ขี้ไคล ฯลฯ เป็นขี้ไปหมด
ภายในกายก็เป็นของสกปรก เป็น “อสุภะ” เป็นของไม่พึงปรารถนา แต่สำหรับคนที่ยังหลงอยู่ ก็ถือว่าดีอยู่ สกปรกอยู่ตรงนี้
เหม็นอยู่ตรงนี้ เหม็นอยู่ที่อื่น ผ้าของเราสะอาดที่สุด เอามาปิดร่างกายไว้ ไม่กี่วันผ้านั้นก็เกิดกลิ่นเหม็นขึ้น
ดำขึ้น สกปรกขึ้น ลองดมดูซิ กลิ่นเหม็นมาจากไหน ก็มาจากร่างกายเรา ร่างกายของเรามันสกปรก มันเหม็น เอาอะไรมาพันก็เหม็น
สิ่งนี้แหละพระพุทธเจ้าจึงได้ รู้ว่า มันเป็น “อสุภะ” เป็นของปฏิกูล เป็นของไม่น่ารักไม่น่าชม
แต่ก็ยังยึดมั่นถือมั่นว่า ของ ๆ เราเอง ของรักของหวงแหนที่สุดในร่างกายนี้

การหวงแหน การยึดมั่นถือมั่น เป็นอุปาทาน มันมีประจำอยู่ทุกชีวิต เพราะเหตุนี้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ จึงได้สอน
“เบญจขันธ์” ให้มากกว่าอย่างอื่น เพราะคนเรายึดติดเบญจขันธ์มากสอนให้รู้จักเบญจขันธ์ ให้รู้จักความเสื่อม
ความเปลี่ยนแปลง ความบูด ความเน่าเปื่อย ความสกปรก ความเหม็นของเบญจขันธ์ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะคลายความรักความหวงแหน
เหล่านี้ไปเมื่อคลายได้มันก็จะเป็นยุติทาง คือ ความเบื่อในร่างกายนี้มันเน่า มันเหม็น มันแตก มันหัก ไม่มีอะไรถาวรเลย
ไม่คงที่มันเปลี่ยนแปลงเมื่อเราคลายอุปาทานออกเมื่อคลายได้แล้ว ความไม่รักก็คือ วิราคะ ก็คือ สิ้นรัก สิ้นกำหนัด
สิ้นความชอบความพอใจในเบญจขันธ์นี้คลายหมดเหมือนร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เหมือนเป็นของผู้อื่น เขาเจ็บ เราไม่เจ็บ
เขาร้องไห้ เราไม่ร้องไห้ ถ้าเราทิ้งได้ ถึงขนาดนั้น อันนี้แหละพระอรหันต์ อยู่ตรงนี้อยู่ตรงที่เราคลายนี้แหละ
คือสิ้นความกำหนัด เราหลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งหลาย

พระพุทธเจ้ามีความมุ่งหมายให้เราเดินมาถึงจุดนี้ ที่สุดแห่งธรรม ก็สุดที่ตรงนี้ เราจะเรียน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
เราจะจำด้วย สัญญาของเรา จะมากเท่าไรก็ตามพระไตรปิฎกเรารู้แตกฉานแต่การปฏิบัติของเราไม่มีพระไตรปิฎก ก็ช่วยอะไรเราไม่ได้
ช่วยเราได้ต่อเมื่อเราปฏิบัติตามหลักของพระไตรปิฎกเราปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
เอาธรรมะนั้นมาปฏิบัติมาไว้ในใจ ทำอะไร รู้ตัวเอง พระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นตำราที่ชี้ในตัวเรานี้แหละ
บ่งบอกในตัวของเราทั้งหมด เป็นตำราของเรา แต่เราเรียนแล้วเราไม่สอนตัวเรา เรียน เฉยๆ ก็เลยไม่เกิดประโยชน์อะไร อย่างพระโพธิละ

ในศาสนาพระเจ้ากัสสปะ เรียนสำเร็จพระไตรปิฎก สอนศิษย์ ๔00- ๕๐๐ คน ศิษย์เรียนแล้วนำไปปฏิบัติจนสำเร็จมรรคผลเยอะ
แต่อาจารย์ก็ไม่สำเร็จอะไรเลย ก็เป็นอาจารย์สอนไปเรื่อยๆ ต่อมาสามเณรรูปหนึ่ง พอสำเร็จพระอรหันต์
แล้วก็เลยสงสารอาจารย์ก็เอาธรรมะที่อาจารย์สอนนั้นแหละมาพูดกับอาจารย์เป็นอุบายให้อาจารย์ฟังว่า
เขาปฏิบัติตามที่อาจารย์แนะนำแล้ว เขาจึงได้ถึงขั้นนี้ อาจารย์ก็เลยรู้สึกตัวเอง แหม เรานี้เราสอนคนก็มาก
เราไม่รู้อะไรเลย เหมือนกับช้อนตักข้าว ตักแกง ตักทุกวัน แต่ไม่รู้รสชาติของธรรมะ ลูกศิษย์เราเขารู้ เขาได้หมด
เราโง่เหลือเกิน ก็ได้เณรรูปนี้แหละสอนอาจารย์จึงได้ปฏิบัติ จึงได้ผลบรรลุ

อันนี้พระพุทธเจ้าเคยเทศน์ว่า ตุจฉะ โพธิละ “ ตุจฉะ” แปลว่า เปล่า “ โพธิละ” แปลว่า คัมภีร์เปล่า คือ ได้แต่คัมภีร์
แต่รสชาติความเอร็ดอร่อย ของคัมภีร์ โพธิละก็ไม่รู้ เหมือนคนรู้ตำรายา รู้มากตำรายาอ่านได้ ไม้อันนี้แก้โรคนี้
ไม้ต้นนั้นแก้โรคนั้น แต่ว่าไม่เก็บต้นไม้มาผสมกันให้เป็นยา เมื่อคนป่วยเอาตำรายาไปบดใส่น้ำ ตำราหาเป็นยาไม่
เพราะตำราบอกชี้ไว้เฉยๆก็เช่นกัน เรียนรู้แล้ว ไม่ปฏิบัติก็เหมือนไม่รู้อะไร

บัดนี้พวกเราปฏิบัติธรรม มาปฏิบัติธรรมะ มารู้จักตัวเอง มานั่งมองตัวเอง มองตั้งแต่ ผม ขน เล็บ หนัง เห็นกระดูกให้มองดู
มองให้เห็นด้วยปัญญาของตัวเอง ว่ามันเป็นอย่างไรบ้าง ข้างในมันสะอาดหรือสกปรก เราถึงได้หวงนักหวงหนา รักนักรักหนา
เมื่อมองกายแล้วให้มองใจ ใจของเราทำไมมันถึงเก็บ เก็บในสิ่งที่ไม่ควรเก็บ เก็บความโลภ ความหลง ความโกธร ความรัก ความตระหนี่
มันเก็บไปหมดทุกอย่าง ไม่ยอมทิ้ง มีเท่าไรเอาเท่านั้น ความโลภ โกธร เอามาสั่งสมไว้ หลงตัวเอง ไม่รู้สภาวะความเป็นไป
ว่าตอนนี้เราสมควรทำอย่างไร เราแก่ขนาดนี้ สมควรทำอย่างไรต่อไป ที่ผ่านมาแล้วเราสั่งสมความดีไว้มากน้อยเท่าไร

ศีลท่านปฏิบัติกรรมฐาน เราเคยปฏิบัติมาไหม หรือยังไม่เคย อนาคตข้างหน้า มันจะใกล้หรือไกล เรายังไม่เคย อนาคตข้างหน้า
มันจะใกล้หรือไกล เรายังไม่ทราบ ข้อนี้สำคัญความหลง การมาปฏิบัติธรรมะเพื่อถอดถอน ความหลง ความรัก ความโกรธ เกลียด
มานะทิฎฐิ ออกไปให้มันเหือดแห้งไปจากจิตใจของเรา เราถึงมาปฏิบัติไม่ใช่มานั่งเฉยๆ การมาฟังเทศน์ก็ได้บุญ
แม้ไม่มีปัญญาเกิดขึ้นก็ยังถือว่าได้บุญ ถ้าหากมีปัญญาเกิดขึ้นตามกระแสอาจารย์สอน ก็เกิดกุศล คือความฉลาด
ฉลาดจะรู้ได้อาศัยการฟัง อาศัยการเรียนรู้ ถึงจะฉลาดได้ เพราะฉะนั้น การฟังเทศน์ คือการรู้อารมณ์ รู้การเคลื่อนไหว
รู้การพูด การคิด รู้ไปหมด เรียกว่า “สติปัญญา” ถ้าเราคิดไว้ว่าเราจะทำอย่างนั้น เราจะทำอย่างนี้ เราคิดไว้ก่อน
อันนี้เป็น สติ “ สติปัฏฐาโน เอกายะ มัคโค”

พระพุทธเจ้าท่านเทศน์ว่า “ สติปัฏฐาน” เป็นเส้นทางเอกเดิน หน้า เข้าไปสู่พระนิพพาน
ไม่มีเส้นทางไหนดีกว่าแม้เดินตามอริยมรรค ๘ ก็เดินตามสติปัฏฐานนี่แหละ ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ก็ตามสติปัฏฐานความรู้จิตในใจ
รู้กายในกาย รู้ความคิดของจิตใจ คิดดี คิดชั่ว รู้จักปล่อยวาง อันไหนควร ไม่ควร เป็นสติปัฏฐานหมด
ที่หลวงปู่ได้พูดมาเบื้องต้นก็เป็นประทีบดวงหนึ่ง ให้เรามองเห็นงานที่เราต้องทำส่องในที่มืดให้สว่าง
ถ้าโยมทั้งหลายนำไปคิด พิจารณาด้วยปัญญาญาณ ของตัวเองก็จะได้รู้ ก็ขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย จงเป็นผู้สำเร็จ
ด้วยเฉียบแหลมคม สามารถที่จะขจัดกิเลสของตัวเองให้น้อยลง ให้เบาลง ถ้าตัดขาดได้ก็ให้ใช้สติปัญญาของพวกท่านทั้งหลาย

ในที่สุดหลวงปู่จะขออาราธนา คุณพระศรีรัตน์ตรัย องค์พระธาตุพนม พระธาตุมหาชัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลกนี้
มาบวกกับบารมีของท่านทั้งหลาย ที่ปฏิบัติมาจงประสบผลสำเร็จดังความตั้งใจของพวกท่านทั้งหลายทุกประการเทอญ


ประวัติ พระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ)
วัดธาตุมหาชัย ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม
๑.ชาติกำเนิด ๔.กำเนิดวัดป่ามหาชัย ๗.สัจจะแห่งชีวิต ๑๐.นิมิตประหลาด ๑๓.ผจญภัย
๒.สร้างธาตุมหาชัย ๕.การเผยแผ่ ๘.ความพลัดพราก ๑๑.หลงในรู้ ๑๔.กำหนดรู้
๓.พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ๖.ปริศนาธรรม ๙.ธรรมโอสถ ๑๒.ชื่อมหาชัย ๑๕.พระบรมครู

ธรรมะคำสอน หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ
อารมณ์กรรมฐาน ทางเดินของจิต การแสวงหาตน นักปราชญ์ของจิต ทาง ๗ สาย ธรรมะของหลวงปู่(๒)
กายสังขาร-จิตสังขาร เบญจขันธ์เป็นของหนัก เหตุให้ถึงธรรม อนัตตาเบญจขันธ์ เกร็ดธรรมะ
กลับสู่หน้าหลัก